Work safety ทำงานให้ปลอดภัยช่วง COVID-19 ด้วยมาตรฐาน ISO/PAS 45005

<a href="https://www.freepik.com/photos/constrution">Constrution photo created by freepik - www.freepik.com</a>

การทำงานในช่วงการแพร่ระบาดของ COVID-19 ถือเป็นความท้าทายขององค์กรและผู้ปฏิบัติงานที่ต้องมีการจัดการกับความเสี่ยงของการติดเชื้อที่จะส่งผลกระทบต่อการปฏิบัติงานในหน้าที่ที่รับผิดชอบและต่อองค์กรให้มีความปลอดภัยเพิ่มมากขึ้น หลาย ๆ องค์กรได้นำมาตรการ DMHTT (แนวทางปฎิบัติที่กระทรวงสาธารณสุขแนะนำให้ใช้ในการชะลอการระบาดของ โควิด-19) มาประยุกต์ใช้กับการทำงานของแต่ละองค์กร โดย DMHTT ประกอบด้วย

  • D (Distancing) คือ การเว้นระยะห่างกับคนอื่นอย่างน้อย 1-2 เมตร

  • M (Mask Wearing) คือ การสวมหน้ากากผ้า หรือหน้ากากอนามัยเพื่อลดการฟุ้งกระจายของละอองฝอย

  • H (Hand Washing) คือ การหมั่นล้างมือบ่อยๆ ทั้งน้ำสบู่ และเจลแอลกอฮอล์ฆ่าเชื้อ

  • T (Testing) คือ ตรวจวัดอุณหภูมิร่างกายสม่ำเสมอ ทั้งก่อนเข้าทำงาน ร้านสะดวกซื้อ และพื้นที่สาธารณะ

  • T (Thai Cha na) คือ การสแกนแอปไทยชนะทุกครั้งที่เดินทางไปสถานที่ต่างๆ และโหลดแอปหมอชนะพร้อมลงทะเบียนหากทำได้ เพื่อให้ทราบความเสี่ยงติดโรคของตนเอง

ทั้งนี้ภายใต้การทำงานของหลาย ๆ องค์กรที่มีการปฏิบัติงานที่ปลอดภัยตาม พรบ. ความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ. ๒๕๕๔ หรือได้มีการจัดทำระบบการจัดการอาชีวอนามัยและความปลอดภัยตามมาตรฐาน ISO 45001 อาจพิจารณาในการนำมาตรฐาน ISO/PAS 45005 Occupational health and safety management — General guidelines for safe working during the COVID-19 pandemic ที่ให้ข้อแนะนำในการปฏิบัติเกี่ยวกับการทำงานที่ปลอดภัยในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 มาประยุกตใช้กับการทำงานขององค์กรเพื่อให้เกิดการกำหนดแนวปฏิบัติในการทำงานที่ปลอดภัยภายใต้การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น รวมถึงยังเป็นการบูรณาการเข้ากับระบบการจัดการอาชีวอนามัยและความปลอดภัยขององค์กร โดยมีข้อแนะนำให้องค์กรดำเนินการ ดังนี้

  • ทำการประเมินความเสี่ยงของการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อที่ส่งผลกระทบต่อความสามารถในการปฏิบัติงานของผู้ปฏิบัติงานขององค์กรเพื่อทำการวางแผนการปฏิบัติงานที่ปลอดภัยที่ครอบคลุมถึง

    • การจัดเตรียมสถานที่ทำงาน (Workplace) ทั้งในส่วนการจัดการสถานที่ทำงานทางกายภาพ (เช่น การกำหนดข้อปฏิบัติในการเข้า-ออกสถานที่ทำงานเพื่อป้องกันไม่ให้มีผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อเข้าพื้นที่ การกำหนดแผนการทำความสะอาดและการฆ่าเชื้อ การจัดหาสิ่งอำนวยความสะดวกและอุปกรณ์ที่จำเป็น เช่น เครื่องวัดอุณหภูมิ จุดที่มีผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดมือ เป็นต้น จัดพื้นที่ปฏิบัติงานที่ปลอดภัย) การจัดให้ทำงานที่บ้านหรือที่อื่น

    • การกำหนดบทบาทผู้ปฏิบัติงาน (ทั้งที่ทำงานที่องค์กรหรือทำงานที่บ้านหรือที่อื่น) และกิจกรรมการทำงานที่ต้องมีการปฏิบัติในจุดปฏิบัติงาน

    • การเตรียมความพร้อมและตอบสนองต่อสถานการณ์ฉุกเฉินที่จะเกิดขึ้น

    • การปรับเปลี่ยนการปฏิบัติงานตามคำสั่ง/ข้อบังคับของหน่วยงานกำกับ (เช่น หน่วยงานภาครัฐ)

    • การจัดการและการดูแลเมื่อพบผู้ติดเชื้อ/ผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ ทั้งที่พบในองค์กร หรือผู้ปฏิบัติงานที่ปฏิบัติงานจากภายนอกองค์กร และการดูแลสุขภาพจิตและความเป็นอยู่ของผู้ปฏิบัติงานขององค์กร

    • การเตรียมความพร้อมในด้านทรัพยากร การสื่อสาร การจัดการสุขลักษณะ (Hygiene) และ PPE รวมถึงหน้ากากและอื่น ๆ

    • การปฏิบัติงาน ทั้งช่วงที่เกิดสถานการณ์การแพร่ระบาด การกลับมาทำงานที่องค์กรในครั้งแรก (First return to a workplace) การเข้า-ออกสถานที่ทำงาน การเคลื่อนย้ายไป-มาระหว่างสถานที่ทำงาน การจัดเขตพื้นที่ทำงานและจุดทำงาน (Work zones and workstations) รวมถึงการใช้พื้นที่ส่วนกลาง การจัดการกับผู้เข้าเยี่ยม (Visitor) ที่มาสถานที่ปฏิบัติงานขององค์กร การทำงานในพื้นที่สาธารณะ การเดินทางที่เกี่ยวข้องกับการทำงาน การส่งมอบ

  • สร้างและสนับสนุนการมีส่วนร่วมในการปฏิบัติงานที่ปลอดภัยตั้งแต่ผู้บริหารระดับสูง ผู้ปฏิบัติงานและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (ที่อาจเกิดผลกระทบจากการปฏิบัติงานขององค์กร)

  • การประเมินผลการดำเนินการและการปรับปรุง เพื่อให้สามารถปฏิบัติงานได้อย่างปลอดภัยภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อ

ปัจจุบันสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมได้นำมาตรฐาน ISO/PAS 45005 มาประกาศเป็น มตช. 45005-2564 การจัดการอาชีวอนามัยและความปลอดภัย - ข้อแนะนำทั่วไปสำหรับการทำงานอย่างปลอดภัยระหว่างการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ทั้งนี้หากองค์กรสนใจในการนำมาตรฐานมาประยุกต์ใช้สามารถติดต่อได้

  • สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม หรือ

  • องค์การระหว่างประเทศว่าด้วยการมาตรฐาน (International Organization for Standardization-ISO)


ที่มาแหล่งข้อมูล :

  • สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (https://www.tisi.go.th)

  • องค์การระหว่างประเทศว่าด้วยการมาตรฐาน (International Organization for Standardization– ISO) https://www.iso.org

  • ภาพ https://www.freepik.com


ปรับปรุงข้อมูล : เมษายน 2565