เริ่มต้นจัดการความปลอดภัยในการทำงาน

<a href="https://www.freepik.com/vectors/workman">Workman vector created by macrovector_official - www.freepik.com</a>

ความปลอดภัยในการทำงานถือเป็นประเด็นที่ทุก ๆ องค์กรต่างให้ความสำคัญต่อการจัดการให้มีปฏิบัติงานที่ปลอดภัยแก้ผู้ปฏิบัติงานขององค์กร โดยการจัดการอาชีวอนามัยและความปลอดภัย องค์กรสามารถพิจารณาเลือกใช้แนวทางในการดำเนินการการจัดการความปลอดภัยในการทำงานตาม

  • พระราชบัญญัติความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ. ๒๕๕๔ - สำหรับองค์กรที่อยู่ข่ายบังคับของ "กฎกระทรวงกําหนดมาตรฐานในการบริหารและการจัดการดานความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทํางาน พ.ศ. ๒๕๔๙" ที่ต้องมีการปฏิบัติตาม (ส่วนองค์กรอื่น ๆ ที่ไม่ได้ถูกบังคับตามกฎหมาย เช่น หน่วยงานรัฐวิสาหกิจ เป็นต้น ถือเป็นภาคความสมัครใจที่จะดำเนินการเรื่องความปลอดภัยในการทำงานตามที่กฎหมายความปลอดภัยระบุหรือไม่ก็ได้) และ/หรือ

  • มาตรฐาน ISO 45001:2018 Occupational health and safety management systems — Requirements with guidance for use - เป็นมาตรฐานจากองค์กร ISO ที่องค์กรใด ๆ ที่สนใจนำเอาข้อกำหนดด้านการจัดการอาชีวอนามัยและความปลอดภัยไปประยุกต์ใช้ในองค์กรได้ตามความสมัครใจ (ไม่บังคับ)

โดยมีจุดมุ่งหมายของการจัดการความปลอดภัยในการทำงานก็เพื่อให้องค์กรมีการจัดการและดูแลสภาพการทํางานและสภาพแวดล้อมในการทํางานที่ปลอดภัยและถูกสุขลักษณะ รวมทั้งมีการส่งเสริมสนับสนุน การปฏิบัติงานของผู้ปฏิบัติงาน (ทั้งที่เป็นลูกจ้างขององค์กรเองโดยตรงหรือเป็นลูกจ้างจาก Outsource/Sub-contractor) ไม่ให้ได้รับอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย จิตใจ และสุขภาพอนามัย

การจัดการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงานมีประเด็นหลัก ๆ ที่องค์กรควรต้องมีการดำเนินการประกอบด้วย

  1. การจัดให้มีบุคลากรที่ดูแลด้านความปลอดภัยในการทำงานและโครงสร้างบริหารด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงานตามที่กฎหมายกำหนด เช่น การจัดให้มีเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงาน (จป.) ในแต่ละระดับในจำนวนที่เหมาะสมตามที่กฎหมายกำหนดและต่อการปฏิบัติงาน คณะกรรมการความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน หรือหน่วยงานความปลอดภัยฯ เพื่อปฏิบัติงานตามบทบาทหน้าที่ที่กฎหมายกำหนดและที่องค์กรมอบหมาย

  2. การกำหนดนโยบายด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสถาพแวดล้อมในการทำงาน เพื่อสื่อสารและสร้างความเข้าใจให้กับผู้ปฏิบัติงานและผู้ที่เกี่ยวข้องได้รับทราบเพื่อนำไปสู่การมีส่วนร่วมในการปฏิบัติตามได้อย่างเข้าใจและถูกต้อง

  3. การติดตามและรวบรวมกฎหมายด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน ที่องค์กรต้องมีการปฏิบัติตามให้ถูกต้อง และดำเนินการประเมินความสอดคล้องของการปฏิบัติตามกฎหมายและข้อบังคับฯ เหล่านั้นอย่างสม่ำเสมอ

  4. การชี้บ่งและประเมินอันตรายในการทำงาน เพื่อกำหนด จัดทำและปฏิบัติตาม

  • แผนการดําเนินงานด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทํางาน

  • แผนการดำเนินการในการกำจัดและควบคุมอันตรายในการทำงาน

  • ข้อบังคับและคู่มือว่าด้วยความปลอดภัยในการทำงาน (ทั้งตามที่กฎหมายกำหนด และที่องค์กรเห็นสมควรต่อการปฏิบัติงานที่ปลอดภัย) และเอกสารอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง

  • แผนการเตรียมความพร้อมต่อภาวะฉุกเฉิน เช่น แผนป้องกันและระงับอัคคีภัย เป็นต้น และการฝึกซ้อมแผนฯ

  1. การสื่อสารและการจัดให้มีการฝึกอบรมด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน ให้กับผู้ปฏิบัติงานตามที่กฎหมายกำหนด และตามความเหมาะสมต่อการปฏิบัติงานที่ปลอดภัย

  2. การตรวจสภาพแวดล้อมในการทำงาน การตรวจสอบการทำงานที่ปลอดภัย การสอบสวนอุบัติการณ์ที่เกิดจากการทำงานและการรายงานผลความปลอดภัยในการทำงาน เพื่อควบคุม กำกับและจัดการแก้ไขการดำเนินงานให้เกิดความปลอดภัยในการทำงานที่เป็นไปตามที่องค์กรกำหนดและสอดคล้องตามที่กฎหมายกำหนดไว้

  3. การปรับปรุงการจัดการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน ให้เหมาะสมต่อการปฏิบัติงานตามบริบทขององค์กร เพื่อให้เกิดผลลัพธ์ด้านความปลอดภัยในการทำงานตามที่องค์กรกำหนดไว้

ทั้งนี้องค์กรสามารถกำหนดแนวทางในการปฏิบัติด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงานให้เหมาะสมกับลักษณะของการดำเนินงานขององค์กร ผลิตภัณฑ์/บริการที่องค์กรมีการดำเนินการเพื่อส่งมอบใหัลูกค้า และศักยภาพ/ความพร้อมที่องค์กรมีในการดำเนินการเพื่อสร้างความปลอดภัยในการทำงานให้เกิดขึ้นในองค์กรได้อย่างมีประสิทธิผล


ที่มาแหล่งข้อมูล :

  • กระทรวงแรงงาน https://www.labour.go.th

  • องค์การระหว่างประเทศว่าด้วยการมาตรฐาน (International Organization for Standardization– ISO) https://www.iso.org

  • สถาบันส่งเสริมความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน (องค์การมหาชน) https://www.tosh.or.th

  • สมาคมส่งเสริมความปลอดภัยและอนามัยในการทำงาน https://www.shawpat.or.th

  • ภาพ https://www.freepik.com


ปรับปรุงข้อมูล : เมษายน 2565