Food Safety ความปลอดภัยด้านอาหารใน Food Chain
การจัดการให้อาหารหรือผลิตภัณฑ์อาหารมีความปลอดภัยต่อการบริโภคถือเป็นความสำคัญที่ผู้ประกอบการอาหาร (Food Business Operator : FBO) ในทุกขั้นตอนของห่วงโซ่อาหาร (Food Chain) ต้องดำเนินการให้ถูกต้องตามการปฏิบัติทางสุขลักษณะที่ดี (Good Hygiene Practices) เพื่อให้ได้อาหารที่ปลอดภัยและเหมาะสมกับการบริโภคโดยไม่ก่อให้เกิดการเจ็บป่วยหรือการบาดเจ็บเนื่องจากอาหารมีการปนเปื้อนของอันตรายในอาหาร (Food Hazard) การจัดการด้านความปลอดภัยของอาหารที่ผู้ประกอบการอาหาร (FBO) ดำเนินการ สามารถแบ่งออกได้เป็น
การจัดการความปลอดภัยของอาหารตามที่กฎหมายกำหนด เช่น การจัดการสุขลักษณะที่ดีตาม
ประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 420) พ.ศ. 2563 สถานที่ผลิตและนำเข้าอาหารทุกประเภท ยกเว้นสถานที่ผลิตเกลือบริโภคและสถานที่คัดและบรรจุผักและผลไม้สดบางชนิด
พระราชบัญญัติ ควบคุมคุณภาพอาหารสัตว์ พ.ศ. ๒๕๕๘ ที่
กรมปศุสัตว์ ได้กำหนดหลักเกณฑ์ที่ดีในการผลิตอาหารสัตว์
กรมประมง ได้กำหนดหลักเกณฑ์การผลิตอาหารสัตว์น้ำที่ดี สำหรับโรงงานผลิตอาหารสัตว์น้ำ เป็นต้น
การจัดการความปลอดภัยของอาหารตามมาตรฐานสากล เช่น
CXC1 – 1969 (Revised in 2020). General Principles of Food Hygiene (GHP) จาก CODEX ALIMENTARIUS
ISO 22000:2018 Food safety management systems — Requirements for any organization in the food chain จากองค์กร ISO
BRCGS Food Safety Issues 8 จาก BRCGS
FSSC 22000 (Food Safety System Certification 22000) จาก The Foundation for Food Safety Certification (FSSC)
IFS Food Version 7 จาก International Featured Standards (IFS) เป็นต้น
การจัดการความปลอดภัยของอาหารจะมุ่งเน้นที่การควบคุม/การจัดการกับอันตรายในอาหาร (Food Hazard) ที่ประกอบด้วย
อันตรายทางกายภาพ เช่น เศษแก้วโลหะ ไม้ กรวด หิน เศษวัสดุอื่นๆ น็อต ตะปู เป็นต้น
อันตรายทางชีวภาพ เช่น เชื้อจุลินทรีย์ ปรสิตและไวรัส เป็นต้น
อันตรายทางเคมี (รวมสารที่ก่อให้เกิดภูมิแพ้) เช่น สารพิษจากเชื้อรา สารพิษจากปลาปักเป้า สารกันหืน สารกันเชื้อรา ฟอร์มาลีน เป็นต้น
ให้อยู่ในระดับที่ยอมรับได้ที่จะไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อผู้บริโภคเมื่อผู้บริโภคได้บริโภคอาหารหรือผลิตภัณฑ์อาหารนั้นแล้ว โดยองค์กรจะต้องดำเนินการจัดการความปลอดภัยของอาหารตามประเด็นที่กำหนดไว้ในกฎหมายและ/หรือตามข้อกำหนดที่มาตรฐานสากลที่องค์กรเลือกมาประยุกต์ใช้ โดยดำเนินการปรับปรุงโครงสร้างและสภาพแวดล้อมในการปฏิบัติงานให้ถูกสุขลักษณะและกำหนดเอกสารมาตรฐานการปฏิบัติงานไว้ใช้ประกอบการทำงาน เพื่อให้มั่นใจถึงการผลิตและส่งมอบอาหารหรือผลิตภัณฑ์อาหารที่ปลอดภัยต่อการบริโภค
ที่มาแหล่งข้อมูล :
กรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ https://www.dld.go.th
กรมประมง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ https://www4.fisheries.go.th
องค์การระหว่างประเทศว่าด้วยการมาตรฐาน (International Organization for Standardization– ISO) https://www.iso.org
CODEX ALIMENTARIUS INTERNATIONAL FOOD STANDARDS https://www.fao.org
BRCGS https://www.brcgs.com
The Foundation for Food Safety Certification (FSSC) https://www.fssc22000.com
International Featured Standards (IFS) https://www.ifs-certification.com
ปรับปรุงข้อมูล : เมษายน 2565